ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่มีต่อการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล
บริเวณชายฝั่งเป็นบริเวณที่มีความสำคัญมากต่อความผาสุกของมนุษย์ ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มนุษย์จะตั้งถิ่นฐาน ในบริเวณชายฝั่งทะเล ริมฝั่งแม่น้ำ และที่ราบลุ่มดินตะกอน เนื่องจากเป็นบริเวณ ที่เหมาะต่อการทำการเกษตร การประมงและการค้า มากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลก ที่ปัจจุบันนี้อาศัยอยู่ ห่างจากทะเลไม่เกิน 60 กิโลเมตร โดยภาพรวม อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากร แถบชายฝั่งจะสูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก ยิ่งกว่านั้นมีเมือง ที่คาดว่าจะมีประชากรเกินกว่า 10 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2100 ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งมากถึง 16 เมือง ใน 23 เมือง การเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล การเปลี่ยนแปลงความถี่ และความรุนแรงของปรากฏการณ์ลมฟ้าอากาศ ที่รุนแรงมาก ๆ น่าจะเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญที่สุด ที่จะเกิดขึ้นในบริเวณนี้ อันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
ระหว่าง 18,000 ปีที่ผ่านมา ระดับน้ำทะเลได้สูงขึ้นโดยรวม ประมาณ 100 เมตร แต่ ทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นในช่วงเวลาการสิ้นสุดยุคน้ำแข็งยุคสุดท้าย เมื่อประมาณ 10,000 ปีมาแล้ว ระหว่างศตวรรษที่ผ่านมา ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นประมาณ 18เซนติเมตร หรือโดยเฉลี่ย 1-2.5 มิลลิเมตร/ปี การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก จะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เนื่องจากกลไกต่าง ๆ หลายชนิด ซึ่งที่เด่นชัดมากที่สุดคือ การขยายตัวของน้ำ ในมหาสมุทรเนื่องจากความร้อน ตามด้วยการละลายของธารน้ำแข็งแถบภูเขา และการละลายของแผ่นน้ำแข็งแถบขั้วโลก การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเล ยังเกิดขึ้นได้ เนื่องจากอิทธิพลการเคลื่อนไหวทางธรรมชาติ เช่น การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการหมุนเวียน ในมหาสมุทร ลมและความกดอากาศ ซึ่งอิทธิพลจากความผันแปรเหล่านี้ บางส่วนมีผลทำให้เกิดความผันแปร ของระดับน้ำทะเลในระดับภูมิภาคได้
อย่างไรก็ตาม ตัวชายฝั่งทะเลก็ไม่คงที่เนื่องจากกระบวนการทางธรณีวิทยา ตาม ธรรมชาติ (การเคลื่อนที่ ของเปลือกโลก การตอบสนองจากธารน้ำแข็ง การตกตะกอน และการจมตัวลงของแผ่นดิน) และกิจกรรมของมนุษย์ (การขุดเจาะหาน้ำมัน ก๊าซ หรือ น้ำ และการตกตะกอน) เป็นสาเหตุทำให้แผ่นดินชายฝั่งเคลื่อนที่ไป เมื่อเทียบกับระดับของน้ำทะเล เช่น การสูบน้ำใต้ดินมาใช้ ทำให้แผ่นดินในท้องถิ่นนั้น จมตัวลงได้ ซึ่งตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1920 และ 1930 เป็นต้นมา เมืองใหญ่ ๆ ที่ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่ง จำนวนมากจมตัวลง เนื่องจากการสูบน้ำใต้ดิน ขึ้นมาใช้มากเกินไป เช่น กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จมตัวลง 5 เมตร เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน จมตัวลง 2.8 เมตร และเมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น จมตัวลง2.8 เมตร ปัญหานี้ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในเมืองที่อยู่ชายฝั่ง เช่น เมืองเทียนสิน ประเทศจีน และกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย การเปลี่ยนแปลงของแผ่นดิน และระดับน้ำทะเล ในแต่ละท้องถิ่นในลักษณะนี้ ปรากฏชัดว่า ไม่เกี่ยวข้องกับสาเหตุที่เกิดจาก การเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลของโลกแต่ประการใด แต่เมืองต่าง ๆ หรือแถบชายฝั่งที่ปัจจุบันนี้ ประสบกับปัญหาการทรุดลง ของแผ่นดิน จะมีปัญหาเพิ่มมากขึ้น ถ้าหากน้ำทะเลสูงขึ้น ซึ่งยากที่จะเอาชนะได้ ดังนั้น บริเวณเหล่านี้ จะอ่อนไหวต่อระดับน้ำทะเลของโลก ที่จะสูงขึ้นในอนาคตมากที่สุด
ค่าประมาณที่ดีที่สุดของแบบจำลองมหาสมุทรและภูมิอากาศปัจจุบัน คือ ระดับน้ำทะเล จะสูงขึ้นประมาณครึ่งเมตร ในประมาณปี ค.ศ. 2100 และจะสูงขึ้นต่อไปอีก ภายหลังจากนั้น ถ้าหากการปล่อยออกก๊าซเรือนกระจก สู่บรรยากาศ ยังเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้น การประมาณค่าที่ดีที่สุด ในการพยากรณ์อัตราการสูงขึ้น ของระดับน้ำทะเลกระทำได้ สำหรับช่วงระหว่างปัจจุบัน จนถึงปี ค.ศ. 2100 เท่านั้น ซึ่งจะสูงกว่าใน 100 ปีที่ผ่านมาถึง 2-3 เท่า จากรูปที่ 7 แสดงให้เห็นช่วงกว้าง ของแผนการคาดหมาย การเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลในอนาคต ในการประเมินนี้ ยังคงมีสิ่งที่ไม่แน่นอนที่สำคัญ 2 ประการ คือ ช่วงเวลาที่ล่าช้าออกไป ในการตอบสนองของน้ำในมหาสมุทร ที่มีต่อการร้อนขึ้นของบรรยากาศ และอัตราการละลายของแผ่นน้ำแข็ง แถบขั้วโลก ยิ่งกว่านั้น การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเล ของแต่ละท้องถิ่น จะแตกต่างกันมาก จากการประมาณค่าเฉลี่ยของโลก เนื่องจากการขยับเลื่อนไป ของกระแสน้ำและลมค้า ที่อาจเกิดเป็นแรง ทำให้ปริมาตรของน้ำเพิ่มมากขึ้น ตามชายฝั่งได้
อิทธิพลของการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลที่มีต่อระบบนิเวศ
พื้นที่ชายฝั่งเป็นผลจากการเคลื่อนไหวที่สัมพันธ์ซึ่งกันและกันระหว่างแผ่นดินและ น่านน้ำ จะแตกต่างกันไป ตามโครงสร้างทางแร่ธาตุ และความสูงต่ำของแผ่นดินรอบ ๆ อัตราการตกตะกอน และการพังทลายที่เกิดจากกระแสน้ำ คลื่น น้ำขึ้น-น้ำลง และแม่น้ำ ความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันนี้ จะต้องนำเข้ามาพิจารณา ในการสร้างแบบจำลองผลกระทบ ของการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล ที่คาดหมายได้ ที่จะมีต่อบริเวณชายฝั่ง การขยับเลื่อนไปของขอบเขต ระหว่างแผ่นดินและน่านน้ำ ตามการเพิ่มสูงขึ้นในแนวดิ่ง ของระดับน้ำทะเลที่คาดหมายได้ ตามธรรมดาแล้วจะดูราวกับว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย ซึ่งจะมองไม่เห็นผลกระทบที่ชัดเจน ลักษณะความแตกต่าง และความหลากหลายทางระบบนิเวศ ในบริเวณชายฝั่ง เช่น แนวปะการัง ป่าชายเลน และบึงน้ำเค็ม จะต้องนำเข้ามารวม ในแบบจำลองการเพิ่มสูงขึ้น ของระดับน้ำทะเลด้วย เพราะว่าระบบนิเวศเหล่านี้ ต่างสะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการทางชีวะภูมิศาสตร์ ที่มีผลกระทบต่อชายฝั่ง ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่าบริเวณชายฝั่งมีอิทธิพล ที่เคลื่อนไหวได้เกิดขึ้นภายในตัวเอง
ผลกระทบที่น่าเป็นไปได้มากที่สุดอย่างหนึ่งของการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ที่มีต่อบริเวณชายฝั่ง คือ การชะล้างพังทลาย บริเวณชายฝั่งจะเพิ่มมากขึ้น การชะล้างพังทลายชายฝั่งบางประการ ปรากฏชัดว่า เกิดจากกระบวนการทางธรรมชาติ แต่จะรุนแรงมากขึ้น จากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเคลื่อนย้ายของตะกอน การชะล้างพังทลายชายฝั่ง ก่อให้เกิดผลที่ตามมาอย่างรุนแรง และนำไปสู่การสูญเสียลักษณะการป้องกัน ทางธรรมชาติ เช่น เนินทราย และป่าชายเลน ชายฝั่งของโลกประมาณ 20% เป็นหาดทราย และประมาณ 70% ของชายฝั่งเหล่านี้ได้หดหายไปในระหว่าง 100 ปีที่ผ่านมา การเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลที่ตรวจวัดได้ อาจเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น ที่มีส่วนทำให้เกิดการ ชะล้างพังทลายชายฝั่ง แต่อย่างไรก็ตาม เป็นที่ชัดเจนว่า ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดการชะล้างพังทลาย ชายฝั่งเพิ่มขึ้น ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าสิ่งแวดล้อมของท้องที่นั้น ๆ ถูกทำลายหรือเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นก่อนแล้ว ซึ่งยังมีความต้องการการวิจัยในด้านนี้อีกมาก เพื่อปรับปรุงแบบจำลอง อิทธิพลของการเพิ่มสูงขึ้น ของระดับน้ำทะเล ที่มีต่อชายฝั่งทะเลที่เป็นทราย
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศยังมีผลกระทบทางลบ ต่อพื้นที่ชุ่มน้ำในบริเวณชายฝั่ง ได้แก่ หนองบึง ป่าชายเลน และแนวปะการังอีกด้วย พื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งเหล่านี้ มีหน้าที่สำคัญมากมาย เช่น เป็นแหล่งขยายพันธุ์ และอนุบาลตัวอ่อนของปลา ด้วยเหตุนี้ จึงได้รับการพิจารณาว่า เป็นบริเวณ ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เป็นตัวการกรองก๊าซไนโตรเจน และฟอสฟอรัส และเป็นที่กักเก็บคาร์บอน ซึ่งเป็นตัวการส่งเสริม ให้มนุษย์มีสุขภาพดี สิ่งแวดล้อมสะอาด หน้าที่ที่มีความหลากหลายนี้ หมายถึงว่า กลไกทางกายภาพ ชีวภาพและเคมี ของพื้นที่ชุ่มน้ำเหล่านี้ อยู่ในสภาพที่สมดุลย์อย่างละเอียดอ่อน เช่น กระบวนการที่สลับซับซ้อน ทำให้เกิดการตกตะกอน และจมอยู่ใต้น้ำได้ ผลกระทบของการเพิ่มสูงขึ้น ของระดับน้ำทะเล ที่มีต่อพื้นที่ชุ่มน้ำ จะแตกต่างกันไป ขึ้นกับปัจจัยเฉพาะ เช่น ช่วงน้ำขึ้น-น้ำลง การตกตะกอน และการทำลายโดยตรง ในหลายกรณีที่ผลกระทบทางลบ จะได้รับเพิ่มเติม จากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น บริเวณดินดอนสามเหลี่ยม ปากแม่น้ำมิสซิสซิปปี ในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ระบบการตกตะกอน และระบบน้ำจืด ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำในท้องถิ่น ถูกรบกวนจากการพัฒนาคลอง การผันน้ำ การสร้างกำแพงกั้นน้ำ และการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม การเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล จะยิ่งทำอันตรายต่อระบบนิเวศเหล่านี้ มากยิ่งขึ้นไปอีก
ประมาณว่าพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งที่มีคุณค่าทางนิเวศวิทยา และเศรษฐกิจทั่วโลกมีมากกว่า 900,000 ตารางกิโลเมตร ถ้าระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 1 เมตร ในอีก 100 ปีข้างหน้า พื้นที่ชุ่มน้ำเหล่านี้ จะได้รับความเสียหายมากกว่าครึ่ง พื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่ง ที่จะได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงมาก คือ ชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ชายฝั่งสหรัฐอเมริกา ชายฝั่งด้านมหาสมุทรแอตแลนติก ในทวีปแอฟริกา ชายฝั่งประเทศออสเตรเลีย และปาปัวนิวกีนี และชายฝั่งเอเชียตะวันออก แต่เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่ ชุ่มน้ำชายฝั่งในหลายส่วนของโลก กำลังได้รับการบำรุง ให้กลับคืนสภาพเดิม จึงยังคงไม่แน่นอนว่า พื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งประเภทใดบ้าง ที่จะยังคงได้รับผลกระทบทางลบ จากการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล
โดยทั่วไปแล้ว แนวปะการังซึ่งถือว่าอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งอย่างหนึ่ง มีหน้าที่ต่าง ๆ มากมาย และส่วนมากมีความสำคัญต่อการอยู่รอด และการพัฒนาของมนุษย์ เช่น เป็นแนวป้องกัน ชายฝั่ง เป็นที่อยู่อาศัย และขยายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในทะเล ยิ่งกว่านั้น ในระบบนิเวศทางทะเลด้วยกัน ระบบนิเวศแนวปะการัง มีความหลากหลายทางชีวภาพ สูงมากที่สุด เพราะในพื้นที่ขนาดเล็ก ๆ จะมีสิ่งมีชีวิต อาศัยอยู่รวมกันได้มากมาย ศักยภาพอัตราการเจริญเติบโต ในแนวดิ่งของปะการัง ที่ประกอบด้วยสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ทั้งพืช และสัตว์อยู่ในช่วงประมาณ 1-10 มิลลิเมตร/ปี ซึ่งจะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันกับการเพิ่มสูงขึ้น ของระดับน้ำทะเลที่คาดหมายไว้ ทั้งนี้อยู่บนข้อสมมติฐานที่ว่า ไม่มีปัจจัยอื่น ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของปะการัง อย่างไรก็ตาม การจับปลามากเกินไป การทำเหมืองแร่ ภาวะมลพิษและการตกตะกอน แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบ ต่อระบบนิเวศแนวปะการัง อย่างต่อเนื่องมากที่สุดในโลก
ภาวะโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สามารถทำลายปะการังโดยตรงได้ จากการทำให้เกิดรอยแตกของปะการัง (Coral Bleaching) เพิ่มมากขึ้น ช่วงเวลาสั้น ๆ ในฤดูร้อนเพียงแต่อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น 1? ซ. ก็เพียงพอที่จะทำให้ปะการังเกิดรอยแตกขึ้นได้แล้ว ดังนั้น ถ้าอุณหภูมิสูงขึ้น 3-4? ซ. ในช่วงที่ยาวนานเกินกว่า 6 เดือนที่จะเกิดขึ้น ตามการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ จะเป็นสาเหตุทำให้ปะการังเสียชีวิตเป็นบริเวณกว้าง ได้มีการตรวจพบว่า รอยแตกของปะการังที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ตรงกับภาวะการร้อนขึ้น ของน้ำในมหาสมุทรทั่วโลก ถึงแม้ว่าจะมีปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วยก็ตาม การจะกลับคืนสู่สภาพเดิมจากรอยแตกได้ จะต้องใช้เวลานาน ในแต่ละท้องที่การเกิดรอยแตก ในแนวปะการังจะแตกต่างกันไป เช่น ในประเทศอินโดนีเซีย หมู่เกาะกาลาปากอส และทางตะวันออกของประเทศปานามา ระบบปะการังมีรอยแตก ที่รุนแรงมากตามการร้อนขึ้นของน้ำในมหาสมุทร ระหว่างการเกิดปรากฏการณ์ เอลนีโญ ในปี ค.ศ. 1982-1983 และกลับคืนสู่สภาพเดิมได้จนถึงปัจจุบันนี้น้อยมาก จะต้องใช้เวลานานนับศตวรรษ จึงจะให้คืนสภาพเดิมได้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ แนวปะการังอาจถูกทำลาย จากการเพิ่มขึ้นของระดับรังสีอุลตราไวโอเลต ที่เกี่ยวข้องกับการลดลงของก๊าซโอโซน ในบรรยากาศชั้นสตราโตเฟียร์
จากการศึกษาที่ผ่านมาไม่นานเกี่ยวกับผลกระทบของการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล ที่มีต่อเกาะ ที่เกิดจากหินปะการัง พบว่า ผลกระทบของการเพิ่มสูงขึ้น ของระดับน้ำทะเล ที่มีต่อปะการังนั้น เป็นไปในด้านที่ดีกว่าจากการประเมินก่อนหน้านี้ แม้กระนั้น แนวปะการังก็ยังคงอ่อนไหวมาก ต่อ รูปแบบการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ในลักษณะนี้
การประเมินความอ่อนไหวของบริเวณชายฝั่งจากการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล
IPCC ได้สร้างวิธีการทั่วไป สำหรับประเมินความอ่อนไหวของบริเวณชายฝั่ง ที่จะเกิดจากการเพิ่มสูงขึ้น ของระดับน้ำทะเล ซึ่งประกอบด้วยสถานการณ์อ้างอิง หรือสถานการณ์ปัจจุบัน เกี่ยวกับระดับน้ำทะเล รายละเอียด เกี่ยวกับปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น น้ำขึ้น-น้ำลงของท้องถิ่น และความถี่ ของการเกิดคลื่นซัดฝั่ง ใน ปี ค.ศ. 1990 IPCC ได้คาดหมายการเพิ่มสูงขึ้น ของระดับน้ำทะเลระดับต่ำ และระดับสูงไว้ (คือ 0.3 เมตร และ 1 เมตร ตามลำดับ ในประมาณปี ค.ศ. 2100)นำไปปรับให้เข้ากับแต่ละท้องถิ่นได้ ถ้ารู้การจมตัวลง หรือยกตัวขึ้นของแผ่นดิน ความผันแปรของคลื่นซัดฝั่ง ในท้องถิ่น และเหตุการณ์อื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นนั้น ๆ วิธีการนี้ใช้กันอย่างกว้างขวาง เพื่อกำหนดประชากร และทรัพยากร ที่เสี่ยงต่อการเพิ่มสูงขึ้น ของระดับน้ำทะเล และเพื่อประเมินถึงค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น แต่จากการใช้วิธีการทั่วไปของ IPCC ในปัจจุบัน พบว่า การประเมินความอ่อนไหว ต้องพิจารณาให้กว้างกว่านี้ คือ จะต้องนำเอาค่าของวัฒนธรรม ชุมชน และส่วนที่เกี่ยวข้องกับความงาม เข้ามาร่วมพิจารณาด้วย
ขั้นตอนแรกของการนำวิธีการทั่วไปของ IPCC ไปใช้ คือ การประเมินจุดอ่อนไหว ของบริเวณชายฝั่ง ถึงผลกระทบทางชีวะภูมิศาสตร์ จากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล ที่จะตามมา จุดอ่อนไหวนี้ อยู่ในสภาพที่ยืดหยุ่นได้ ของระบบท้องถิ่นนั้น ซึ่งส่วนใหญ่ อยู่ภายใต้อิทธิพล ของปัจจัยต่าง ๆ เช่น จำนวนประชากร และอัตราการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ความอ่อนไหวของประชากร หมายถึง “ความไม่สามารถรับมือได้ มากหรือน้อยกับผลที่จะเกิดขึ้น จากการเพิ่มสูงขึ้น ของระดับน้ำทะเล และอิทธิพลต่าง ๆ จากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ” ซึ่งปัจจัยที่เป็นตัวกำหนด คือ สภาพทางสังคม-เศรษฐกิจ ดังนั้น การประเมินความอ่อนไหว ประกอบด้วย
ในการศึกษาตามวิธีการนี้ ได้สมมติให้ความสัมพันธ์ระหว่าง ระบบชายฝั่งกับผลสะท้อนทางกายภาพ และผลสะท้อนทางมนุษย์ เป็นไปในเชิงเส้นตรง จึงเป็นวิธีการที่ง่าย ดังนั้นในการศึกษาในอนาคต จะต้องศึกษาความสัมพันธ์ ที่สลับซับซ้อนเหล่านี้ ในเชิงที่ไม่ใช่เส้นตรง ยิ่งกว่านั้น แม้ว่าประชากร จะเสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วม แต่ผลกระทบของ การเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล ที่มีต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์ ก็ยังไม่ได้รับการกล่าวถึงในวิธีการนี้ การวิเคราะห์ความอ่อนไหวในอนาคต จะต้องขยายให้ครอบคลุม ถึงผลกระทบที่เป็นไปได้ ที่จะมีต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์ด้วย การวิเคราะห์ โดยใช้วิธีการทั่วไปของ IPCC นั้น ใช้เป็นข้อมูลพื้นฐาน ให้กับผู้มีอำนาจตัดสินใจ ในการกำหนดนโยบาย ถึงการประเมินว่า จะมีความอ่อนไหวของบริเวณชายฝั่งขึ้น ทำให้สามารถวิเคราะห์เบื้องต้น เพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรการที่เป็นไปได้
การประเมินความอ่อนไหวในระดับโลก
ได้มีการสร้างแบบจำลองเพื่อประเมินความอ่อนไหวในระดับโลก ที่จะเกิดขึ้นจากการเพิ่มสูงขึ้น ของระดับน้ำทะเล ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึง กับวิธีการทั่วไปของ IPCC แบบจำลองการประเมินความอ่อนไหวในระดับโลก (Global Vulnerability Assessment – GVA) ได้รวมเอาแผนการคาดหมาย การเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล ชนิดต่าง ๆ เข้ามาร่วมพิจารณาด้วย รวมทั้งที่คาดหมายว่า ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น 50 เซนติเมตรในประมาณปี ค.ศ. 2100 นอกจากนี้ ยังเป็นวิธีการที่ยืดหยุ่นได้มากกว่า ในการประเมินโอกาส การเกิดภาวะน้ำท่วม และได้นำเอามาตรการป้องกัน ที่เป็นไปได้เข้ามาร่วมพิจารณาด้วย แบบจำลองยังได้พยากรณ์ การกระจายตามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ และจำนวนประชากร ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงอีกด้วย
ภายใต้สภาพภูมิอากาศและระดับน้ำทะเลในปัจจุบัน มีประชากรที่ประสบกับภาวะ น้ำท่วม เนื่องจากคลื่นซัดชายฝั่งปีละ 46 ล้านคน จากการใช้จำนวนประชากรในปี ค.ศ. 1990 ประมาณได้ว่า ถ้าระบบการป้องกันชายฝั่ง ไม่ขยายมากไปกว่านี้ ประชากรที่จะเสี่ยงต่อการเพิ่มสูงขึ้น ของระดับน้ำทะเล 50 เซนติเมตร จะสูงเป็น 2 เท่า (92 ล้านคน/ปี) และจะสูงเกือบ 3 เท่า (118 ล้านคน/ปี) ถ้าระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 1 เมตร นอกจากนี้ยังได้ประเมินถึงจำนวนประชากร ที่มีโอกาสประสบกับภาวะน้ำท่วม มากกว่าปีละ 1 ครั้ง ซึ่งประเมินได้ว่า ถ้าระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น 50 เซนติเมตร ในประมาณปี ค.ศ. 2100 ประชากรที่เสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วม มากกว่า 1 ครั้ง/ปี สูงถึง 80 ล้านคน
การคำนวณจำนวนประชากรที่อยู่ในภาวะเสี่ยง อาจผิดพลาดได้มาก ตามระดับการป้องกัน เช่น ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ปัจจุบันได้มีการป้องกันอย่างดี ถ้าระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 1 เมตร จะมีประชากรที่อยู่ในภาวะเสี่ยง เพียง 24,000 คนเท่านั้น แต่ถ้าไม่มีระบบการป้องกันชายฝั่งอย่างดีแล้ว ใน 100 ปีข้างหน้า ประชากรของประเทศเนเธอร์แลนด์ จะอยู่ในภาวะเสี่ยงสูงถึงมากกว่า 3.7 ล้านคน ถ้าจะกล่าวในรูปของเปอร์เซนต์ ของประชากรทั้งประเทศ ที่จะอยู่ในภาวะเสี่ยงแล้ว ประชากรที่อาศัยอยู่ในรัฐอิสระ ที่เป็นเกาะเล็ก ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น กิริบาติ ซามัวและตองกา จะมีเปอร์เซนต์ประชากร ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงสูงมากที่สุด ตามด้วยประเทศเกาะในมหาสมุทรอินเดีย และประเทศ ที่ตั้งอยู่แถบชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย เช่น ประเทศบังคลาเทศและสหภาพพม่า
แบบจำลองสำหรับการประเมินความอ่อนไหวในระดับโลก ที่จะเกิดจากการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล จะต้องนำการเพิ่มสูงขึ้น ของประชากรในบริเวณพื้นที่ชายฝั่ง เข้ามาร่วมพิจารณาด้วย เพราะว่าทำให้ผลกระทบของการเพิ่มสูงขึ้น ของระดับน้ำทะเลมีมากยิ่งขึ้น ที่จะเห็นได้ชัด เช่น ถ้าประชากรบริเวณชายฝั่ง เพิ่มมากขึ้น ประชากรที่จะประสบกับความอ่อนไหว ก็มากขึ้นด้วย ยิ่งกว่านั้น พื้นที่ชายฝั่งเอง ก็จะอ่อนไหวมากขึ้นเช่นกัน เพราะว่าทำให้มีแรงกดดัน ด้านทรัพยากรธรรมชาติ มากขึ้น บริเวณที่คาดว่า อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงมาก คือ ประเทศที่ตั้งอยู่แถบชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ในทวีปแอฟริกา แถบชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศบังคลาเทศและอินเดีย และเอเชียตะวันออก ที่เด่น คือ ประเทศจีน ประเทศอื่น ๆ ที่ประชากร อาศัยอยู่ในบริเวณชายฝั่งจำนวนมาก ที่จะอยู่ในภาวะที่เสี่ยง คือ เวียดนามและโมซิมบิก ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ศูนย์กลางชายฝั่ง ที่ประชากรอาศัยหนาแน่น จะมีประชากรที่อยู่ในภาวะที่เสี่ยง 15% ของประชากร ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงทั้งโลก อย่างไรก็ตาม การมีระบบการป้องกัน ที่ค่อนข้างปลอดภัย หมายถึงว่า จำนวนประชากรที่ อยู่ในภาวะเสี่ยงจริง ๆ จะน้อยกว่านี้ โดยภาพรวมการเพิ่มขึ้นของประชากรและการคาดหมายการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลต่างก็มีส่วนสำคัญในการคำนวณจำนวนประชากรที่จะอยู่ในภาวะเสี่ยง
นอกจากนี้ ในการศึกษาอิทธิพลการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล ที่มีต่อมนุษย์ นั้น แบบจำลองความอ่อนไหวในระดับโลก ยังใช้ในการประเมินถึง อิทธิพลของการเพิ่มสูงขึ้น ของระดับน้ำทะเล ที่มีต่อความสูญเสียพื้นที่ชุ่มน้ำ ผลผลิตข้าว ค่าใช้จ่ายในการป้องกัน และการลงทุน ในสิ่งก่อสร้างบริเวณชายฝั่งได้อีกด้วย
ผลกระทบของการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลในระดับภูมิภาค
ผลกระทบของการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลในระดับภูมิภาค หมายถึง ผลกระทบที่มีต่อพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ 3 ลักษณะ คือ เกาะขนาดเล็ก ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ และชายฝั่งทวีปหรือเกาะขนาดใหญ่ ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะ 2ลักษณะแรกเท่านั้น เพราะมีความอ่อนไหวมากกว่า
เกาะขนาดเล็ก
การสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล ก่อให้เกิดภาวะการเสี่ยงที่รุนแรงสำหรับประชากร ที่อาศัยบนเกาะขนาดเล็ก เพราะว่า มีที่ดินเหลือให้ประชากรล่าถอยไปได้น้อย และทำให้ แหล่งทรัพยากร ธรรมชาติ เช่น แหล่งน้ำจืด ที่โดยทั่วไปมีน้อยอยู่แล้ว เปลี่ยนแปลงไป ในหลายกรณีที่ปัจจัย ทางสิ่ง แวดล้อมในท้องถิ่น เช่น การพัฒนาชายฝั่ง การขุดทรายและปะการัง ที่ควบคุมไม่ได้ ทำให้ความอ่อนไหวเพิ่มสูงขึ้น ผลกระทบจะเกิดแตกต่างกันอย่างชัดเจน ในแต่ละเกาะ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการมี หรือไม่มีการป้องกันชายฝั่ง ตามธรรมชาติ ตำแหน่งที่ตั้งของเกาะ ว่าอยู่ภายใน หรือภายนอกแถบการเกิดของพายุ
ประเทศเกาะเล็ก ๆ จำนวนมากจะประสบกับปัญหาการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล ประเทศเกาะ ที่ถูกกำหนดให้เป็นประเทศที่มีภาวะการเสี่ยงสูงมาก คือ หมู่เกาะมัลดีฟ หมู่เกาะมาร์เชล หมู่เกาะกิริบาติ และหมู่เกาะตองกา ตัวอย่างหมู่เกาะมาร์เชล ซึ่งประกอบด้วยเกาะหินปะการัง 29 เกาะและเกาะธรรมดาอีก 5 เกาะ มีความสูงจากระดับน้ำทะเล เฉลี่ยน้อยกว่า 2.4 เมตร จากการศึกษาที่เกาะบารูโจ ซึ่งเป็นเกาะที่ตั้งของเมืองหลวง คำนวณได้ว่า ในการป้องกันระดับน้ำทะเล ที่จะสูงขึ้น 0.3 เมตร จะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงถึง 1.5-3 เท่า ของ GNP ปัจจุบันของทั้งหมู่เกาะ ในกรณีของเกาะตองกาตาฟูที่มีประชากร 67,000 คน (2/3 ของประชากรทั้งหมดของประเทศตองกา) ระดับน้ำทะเล ที่เพิ่มสูงขึ้น 1 เมตร จะท่วมบ้านเรือนราษฎรถึง 10% ในปี ค.ศ. 1982 ได้เกิดภาวะน้ำท่วม จากพายุหมุนเขตร้อนในพื้นที่ 23 ตารางกิโลเมตร กระทบต่อประชากร 1/3 ของ ประชากรทั้งหมด ถ้ารวมกับน้ำทะเล ที่จะสูงขึ้นอีก 1 เมตรกับพายุหมุนเข้าด้วยกันแล้ว จะส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนประชากร สูงถึง 45%
ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ
ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเป็นบริเวณที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ มักเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม หรือเป็นแหล่งให้ผลผลิตทางการเกษตรสูง ตัวอย่างเช่น ในประเทศจีน กิจกรรมทางการค้า ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งที่เป็นดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ มีมูลค่าประมาณ 25% ของ GNP บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจำนวนมาก จะมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น เนื่องจากอยู่ในที่ต่ำ จึงมีภาวะการเสี่ยงสูงมาก ต่อการเกิดภาวะน้ำท่วม เมื่อน้ำทะเลมีระดับสูงขึ้น ยิ่งกว่านั้นดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจำนวนมาก ที่ประสบปัญหาอยู่แล้ว เนื่องจากการจัดการทรัพยากรไม่ดี และการทำลายที่อยู่อาศัยที่อยู่รอบ ๆ และในบางกรณีได้มีการสร้างเขื่อน และสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ เพื่อป้องกันน้ำท่วม ทำให้การตกตะกอนลดลง ทำให้การชะล้างพังทลายของดิน และการจมตัวลงของแผ่นดิน ในท้องถิ่นนั้น ๆ ทวีความรุนแรงขึ้น การชะล้างพังทลายของดิน และการจมตัวลงของแผ่นดิน ยังเกิดได้จากการสูบน้ำใต้ดินมากเกินไปอีกด้วย ดังเช่นที่เกิดขึ้นในเมืองเซี่ยงไฮ้ และเทียนสิน ประเทศจีนที่การป้องกันการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล จะต้องเสียค่าใช้จ่ายหลายล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา สำหรับประชากร 13 และ 7 ล้านคน ตามลำดับ
ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่มีความอ่อนไหวมากที่สุด ได้แก่ ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำคงคา - พรหมบุตร ในประเทศบังคลาเทศ ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ ในประเทศอียิปต์ และดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำมหานที แม่น้ำคงคา ที่อยู่ทางตะวันตกของอ่าวเบงกอล ทางตะวันตกของอ่าวเบงกอลนี้ ถ้าน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น 1 เมตร จะทำให้น้ำท่วมพื้นที่ประมาณ 1,700 ตารางกิโลเมตร ซึ่งจะเป็นพื้นที่ที่ทำการเกษตรได้ผลผลิตสูงทั้งหมด และจะทำให้ประชากรได้รับความเดือดร้อนประมาณ 750,000 คน ในดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ ในประเทศไนจีเรีย ระดับน้ำทะเล ที่จะสูงขึ้น 1 เมตร ในประมาณปี ค.ศ. 2100 จะทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมในพื้นที่ประมาณ 15,000 ตารางกิโลเมตร เนื่องจากการป้องกัน ที่ได้ผลยังกระทำไม่ได้ ประชากรที่จะได้รับความเดือดร้อนต้องหาที่อยู่อาศัยใหม่ ประมาณครึ่งล้านคน
ปรากฏการณ์ทางลมฟ้าอากาศที่รุนแรงมาก ๆ กับภาวะน้ำท่วมชายฝั่ง
บริเวณชายฝั่งจะได้รับผลกระทบทางลบจากอุณหภูมิและหยาดน้ำฟ้าที่รุนแรงมาก ๆ พายุไซโคลน และคลื่นซัดฝั่งได้ จากแบบจำลองภูมิอากาศจำนวนมาก พบว่า ในบริเวณที่ภูมิอากาศร้อนกว่า โอกาสที่จะเกิดฝนตกหนักมีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การสร้างแบบจำลองภูมิอากาศโลก ยังคงอยู่ในระยะเริ่มต้น และการคาดหมายการเปลี่ยนแปลง ในระยะยาวถึงความถี่ และ/หรือ ความรุนแรงของปรากฏการณ์ ที่รุนแรงมาก ๆ ในระดับท้องถิ่นยังกระทำไม่ได้ พื้นที่บริเวณชายฝั่งเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ยังมีความไม่แน่นอน ถึงความผันแปรของภูมิอากาศ ที่จะสัมพันธ์ซึ่งกันและกันกับการเพิ่มขึ้นของ ระดับน้ำทะเลในแต่ละท้องที่ ว่ามีผลกระทบอย่างไรบ้าง ถึงแม้จะเห็นชัดว่าบริเวณที่ต่ำแถบชายฝั่ง เมื่อเกิดฝนตกหนักมากขึ้น ผนวกกับการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล น่าจะทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ประชากรที่อาศัยในบริเวณนี้ได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต ย้ายที่อยู่และเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อเพิ่มมากขึ้น การเพิ่มมากขึ้นของพายุไซโคลน เฮอริเคน หรือ ไต้ฝุ่น และภาวะน้ำท่วมที่เกิดตามมา อาจส่งผลกระทบ ต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์อย่างร้ายแรงได้
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากว่าความถี่ของปรากฏการณ์ทางลมฟ้าอากาศ ที่รุนแรงมาก ๆ เปลี่ยนแปลงไป เพียงเล็กน้อย แต่ลำพังการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล ก็เพียงพอ ที่จะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำท่วมชายฝั่ง เพิ่มมากขึ้น ผลกระทบทางอ้อม ของการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล ได้แก่ การ สูญเสียลักษณะการป้องกันทางธรรมชาติ เช่น สันทรายและป่าชายเลน เนื่องจากการชะล้างพังทลายเพิ่มมากขึ้น และการระบายของน้ำ จากลำธารชายฝั่งลดลง เนื่องจากอิทธิพลการไหลย้อนกลับ ของน้ำเกิดมากขึ้น การชะล้างพังทลายของดินที่เพิ่มขึ้น และการระบายน้ำที่ลดลง ก็ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำท่วมสูงเช่นกัน ซึ่งได้มีการคำนวณจำนวนประชากร ที่จะเสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วม อันเนื่องจากการเพิ่มสูงขึ้น ของระดับน้ำทะเลไว้แล้ว โดยประเมินตามพื้นฐานความถี่การเกิดคลื่นซัดฝั่ง ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ประชากรปัจจุบัน และระดับการป้องกันอย่างธรรมดา อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม ที่จะเกิดกับมนุษย์ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ อีก เช่น ขอบเขต และประสิทธิภาพของโครงสร้างทางสาธารณสุข แนวโน้มทางสังคม และระดับความเตรียมพร้อม ที่จะเผชิญกับภัยพิบัติ แต่การคำนวณเชิงปริมาณที่ แน่นอนของปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ยังกระทำไม่ได้
ดังนั้น ในระหว่างนั้นควรดำเนินการวางแผนป้องกัน เช่น จะทำให้แน่ใจได้อย่างไรว่า การเตือนภาวะน้ำท่วมมีประสิทธิภาพ ซึ่งการเตือนภาวะน้ำท่วม สามารถลดอัตราการเสียชีวิตของประชากรลงได้อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าประชากรเหล่านั้น เคยประสบภัยพิบัติมาก่อน ผลกระทบของภาวะน้ำท่วม ที่จะมีต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์ อาจลดลงได้จากการออกแบบระบบน้ำประปา ให้ใช้ได้หลายวิธี เพื่อว่าเมื่อระบบใดระบบหนึ่งใช้การไม่ได้ ก็ยังมีระบบอื่นที่ยังใช้การได้ ไม่ทำให้ประชากรขาดน้ำอย่างสมบูรณ์ และการขนส่งน้ำไปยังพื้นที่ห่างไกล ก็จะต้องได้รับการประกันว่า ระหว่างการเกิดภัยพิบัติ จะไม่ถูกตัดขาด ซึ่งจะต้องกำหนดเส้นทางการขนส่งน้ำไว้หลาย ๆ เส้นทาง นอกจากนี้แนวป้องกันชายฝั่งธรรมชาติ เช่น พื้นที่ชุ่มน้ำ ควรได้รับการป้องกันไว้ด้วย เพราะเป็นแนวกันชนพายุได้เป็นอย่างดี
คุณภาพและปริมาณน้ำจืด
ผลกระทบระยะสั้นที่สำคัญและเกิดขึ้นทันทีทันใดจากภาวะน้ำท่วม อันเนื่องจากการเพิ่มสูงขึ้น ของระดับน้ำทะเล คือ คุณภาพและแหล่งน้ำจืด อย่างไรก็ตามผลกระทบในระยะยาว ว่าจะมีผลกระทบต่อแหล่งน้ำใต้ดินด้วยหรือไม่ นั